×

บอนด์ยีลด์ ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น เพราะอะไร? เราควรกังวลหรือไม่?

20.10.2022
  • LOADING...
บอนด์ยีลด์

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี เนื่องจากตลาดกังวลว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงต่อ หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ไม่ยอมลง
  • สภาวการณ์บอนด์ยีลด์รัฐบาลสหรัฐฯ ที่พุ่งสูงขึ้น ยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงบอนด์ยีลด์ทั่วโลกให้ปรับสูงขึ้นตามไปด้วย
  • ทางด้านนักวิเคราะห์ระบุว่า บอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวสูงนั้นน่ากังวล เนื่องจากอาจส่งผลทางจิตวิทยา ทำให้เกิดการเทขายมากขึ้น จนทำให้ตลาดการเงินโลกตึงตัวมากขึ้นได้

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ กำลังสร้างความกังวลว่า อาจสร้างวิกฤตในตลาดที่มีความสำคัญอย่างมากตลาดหนึ่งอย่าง ‘ตลาดพันธบัตรรัฐบาล’ หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือบอนด์ยีลด์ (Bond Yield) 10 ปีของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี ดึงให้บอนด์ยีลด์รัฐบาลหลายประเทศเพิ่มขึ้นตาม จนนักวิเคราะห์กังวลว่าอาจเห็นการไหลออกของเงิน ทำให้ตลาดการเงินโลกประสบกับภาวะตึงตัวยิ่งขึ้น

 

เกิดอะไรขึ้นกับ ‘บอนด์ยีลด์’ ทั่วโลกตอนนี้

เริ่มจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 4.155% ในวันนี้ (20 ตุลาคม) สูงสุดในรอบ 14 ปี หรือตั้งแต่ช่วงกลางปี 2008 ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี เพิ่มขึ้นแตะระดับ 4.589% สูงสุดในรอบ 15 ปี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของไทย แตะระดับ 3.23% ในวันนี้ เพิ่มขึ้น 1.31% ตั้งแต่ต้นปี (YTD) และใกล้แตะระดับสูงสุดที่ 3.36% เมื่อเดือนพฤษภาคม

 

ด้านสหราชอาณาจักร ซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตความเชื่อมั่น หลังรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัสส์ ประกาศแผนลดภาษีครั้งใหญ่ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบหลายสิบปี ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษก็เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะประกาศพับแผนลดภาษีส่วนใหญ่ไปแล้ว แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ก็ยังคงอยู่ในระดับ 3.96% ปรับตัวสูงขึ้น 2.82% จากปีก่อน หลังจากเคยแตะระดับ 4.5% เมื่อเดือนกันยายน

 

นอกจากนี้ จนถึงวันนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นเกิน 2% ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส กรีซ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ 

 

บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ พุ่ง ‘ดัน’ ยีลด์ทั้งโลกขึ้นตาม

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บอนด์ยีลด์ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ มาจากการปรับตัวของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ

 

“เวลาบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นจะดึงบอนด์ยีลด์ขึ้นทั้งโลก แต่ความรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะแต่ละประเทศ เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ นโยบายการเงิน การขึ้นอัตราดอกเบี้ย คล้ายกับกรณีที่ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลง 1,000 จุด นักวิเคราะห์ก็จะทำนายว่า SET เปิดมาก็น่าจะปรับลดลงเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนทั่วโลกมองว่าสินทรัพย์แต่ละประเภทถ้าจะขึ้นก็ขึ้นทั้งโลก ถ้าลงก็ลงทั้งโลก แต่ความรุนแรงจะไม่เท่ากัน แล้วแต่ปัจจัยของแต่ละประเทศ” รุ่งกล่าว

 

เปิดสาเหตุ ‘บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ’ พุ่ง

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Markets ธนาคารกรุงไทยมองว่า สาเหตุหลักที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น มาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed, การเผชิญกับแรงเทขายจากธนาคารกลางอื่นๆ เพื่อพยุงค่าเงินในประเทศตนเองด้วย นอกจากนี้ ตลาดบอนด์สหรัฐฯ ยังขาดผู้เล่นรายใหญ่นั่นก็คือ Fed ที่กำลังดำเนินมาตรการ Quantitative Tightening (QT) ด้วย

 

“QT ก็มีส่วนทำให้บอนด์ยีลด์สูงขึ้น เนื่องจากพอมีพันธบัตรออกประมูลมา Fed ก็อาจไม่ได้เข้าไปประมูลเลย ขณะที่คนไม่อยากถือบอนด์ยีลด์ระยะยาวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น พอมีการประมูล เราจะเริ่มเห็นว่าผลการประมูลอาจจะออกมาไม่ค่อยดี เพราะคนซื้อรายใหญ่อย่าง Fed ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เข้าไป ฉะนั้น ในมุมของสภาพคล่องไม่ค่อยเยอะเหมือนเมื่อก่อน ยีลด์ระยะยาวๆ เลยมีความผันผวนเข้ามาเยอะ นอกจากนี้ยังมีแรงขายจากธนาคารกลางอื่นๆ ด้วยที่ขายบอนด์สหรัฐฯ เพื่อปกป้องค่าเงินในประเทศตัวเอง” พูนกล่าว

 

‘บอนด์ยีลด์ไทย’ ขยับขึ้นตามตลาดโลก

นักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุที่ทำให้บอนด์ยีลด์ไทยปรับตัวขึ้นมาจากการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ เป็นหลัก ร่วมกับการขายพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติ

 

“การปรับตัวของบอนด์ยีลด์รัฐบาลไทยส่วนใหญ่แล้วให้น้ำหนักไปที่เคลื่อนไหวตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ แต่ที่รุนแรงไม่เท่า เพราะเศรษฐกิจเรายังฟื้นตัวไม่ดีเท่า และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป” รุ่งกล่าว

 

ขณะที่พูนระบุว่า “เราเห็นการไหลออกจากพันธบัตรรัฐบาลไทยมาสักระยะแล้ว ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายนที่ตลาด Price ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง โดยเราเริ่มเห็นการขายบอนด์ระยะยาวมากขึ้น และในช่วงเดือนตุลาคมยังไม่เห็นช่วงที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อเลย โดยส่วนใหญ่ขายบอนด์ระยะยาวต่อเนื่อง”

 

บอนด์ยีลด์ขึ้นน่ากังวลหรือไม่?

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การปรับตัวของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ช่วงนี้น่ากังวล และส่งผลทางด้านจิตวิทยา โดยนักลงทุนอาจเทขายพันธบัตรมากขึ้น เนื่องจากกังวลว่าจะขาดทุนจนทำให้ภาวะตลาดการเงินโลกตึงตัวขึ้นได้

 

“การปรับตัวของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ น่ากังวล เนื่องจากเป็นการพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี ส่งผลทางด้านจิตวิทยา หลังจากก่อนหน้านี้ยีลด์วนๆ อยู่ที่ระดับ 4% ต้นๆ แต่พอแตะระดับ 4.15% คนอาจมองว่ามีโอกาสที่ยีลด์อาจจะปรับตัวขึ้นต่อ และอาจทำให้ภาวะตลาดการเงินโลกตึงตัวขึ้น เนื่องจากเงินถูกดึงออกจากทุกสินทรัพย์ ทำให้ความมั่งคั่งของนักลงทุนลดลง” รุ่งกล่าว

 

แนะจับตาสถาบัน ‘ปรับพอร์ต’ รับมือบอนด์ยีลด์พุ่ง

ท่ามกลางแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed นักวิเคราะห์ กล่าวว่า เริ่มเห็นการปรับพอร์ตโฟลิโอของนักลงทุนสถาบันไปถือพันธบัตรระยะสั้นตั้งแต่ปีก่อนแล้ว เพื่อป้องกันการขาดทุนจากการถือพันธบัตรระยะยาว

 

“เมื่อดูจากช่วงการปรับตัวของบอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ เมื่อต้นปียังไม่ถึง 2% แต่ตอนนี้ขึ้นมาอยู่ที่ 4% แปลว่า ยีลด์เพิ่มขึ้นมาราว 2% เมื่อคูณกับระยะเวลา (Duration) แปลว่า ตอนนี้ถือบอนด์ตัวยาวขาดทุนแล้วอย่างน้อย 10-20% ขณะที่การถือบอนด์ไม่ควรจะขาดทุนขนาดนี้ ในมุมของนักลงทุนจึงต้องการลดระยะเวลาการถือครอง โดยเราจะเห็นการปรับพอร์ตไปถือพันธบัตรระยะสั้นของกองทุนตราสารหนี้ต่างๆ ตั้งแต่ปีก่อนแล้ว เพราะพวกเขารู้ว่าปีนี้จะมีการขึ้นดอกเบี้ย” พูนกล่าว

 

แนวทางการรับมือของนักลงทุนรายย่อย

รุ่ง สงวนเรือง ยังเตือนว่า นักลงทุนรายย่อยควรระมัดระวัง เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของตลาดโลกและเศรษฐกิจโลกยังรออยู่ รวมไปถึงความไม่แน่นอนจากภาวะสงคราม โดยปีนี้หลายคนยังมองว่าเศรษฐกิจการค้าโลกจะชะลอตัวลงท่ามกลางความผันผวนสูง ตัวอย่างเช่น เงินบาทใน 1 สัปดาห์สามารถเคลื่อนไหวไปกลับได้ 1 บาท ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ค่อยเกิด 

 

บอนด์ยีลด์

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X